ความลับเศรษฐี คนแบบนี้แหละ ดึงดูดเงิน  世界の大富豪2000人がこっそり教えてくれたこと #44


ผู้เขียน  :  Tony Nonaka
ผู้แปล  :  อนิษา เกมเผ่าพันธ์
ISBN  :  978-616-18-0874-7
ปีที่พิมพ์  :  2015
สำนักพิมพ์  :  อมรินทร์
จำนวนหน้า  :  203 หน้า
ราคา  :  195 บาท 

สรุปเนื้อหาสำคัญ
   หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่รวมบทความสั้นๆ ที่บอกเล่าถึงแนวคิดของมหาเศรษฐีต่างๆในโลก โดยหนังสือได้มีการอธิบายตัวอย่าง ที่ลงสาเหตุ วิธีการ และผลที่เกิดขึ้น (แต่ก็ลงรายละเอียดน้อยเกินไป สำหรับผมคิดว่าถ้ายกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายกว่านี้ ก็น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่านี้)
   อย่างไรก็ตามต่างคนต่างความคิด ผมเลยยกตัวอย่างจากในหนังสือ เพื่อให้ลองดูว่าคุณๆ จะชอบหนังสือในแนวนี้หรือไม่นะครับ
   ในหนังสือจะแบ่งหัวข้อใหญ่ๆ ออกเป็น กลุ่มๆ เช่น การดำเนินชีวิต สุขภาพ การเงิน จำนวนทั้งหมด ๑๑ กลุ่ม

วิธีปลดเบรกที่เหนี่ยวรั้งหัวใจไว้ เพื่อแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่
   สิ่งหนึ่งที่บรรดามหาเศรษฐีต่างๆมีเหมือนๆกันคือ การที่ไม่เคยคิดว่า "ตัวเราไม่มีทางเป็นเศรษฐีร้อยล้านแน่ๆ"

   "ละครสัตว์ตัวหมัด" นี้คือตัวอย่างของการจำกัดตัวเอง โดยหากเราขังตัวหมัดไว้ในขวดที่ปิดฝาไว้ (ซึ่งปกติกระโดดได้สูงกว่าขวด) เจ้าตัวหมัดก็จะพยายามกระโดดหนีออกมานอกขวด แต่ตัวมันจะกระแทรกโดนฝาขวดทุกครั้ง หลังจากการพยายามหลายครั้งเข้า ตัวหมัดก็จะถอดใจและไม่กระโดดสูงจนชนฝาอีก
   หลังจากนั้นเมื่อเราปล่อยตัวหมัดออกจากขวดแล้ว เจ้าตัวหมัดนั้นก็จะไม่กระโดดสูงเกินกว่าความสูงของขวดอีกเลย นี้คือผลของการที่ความคิดจำกัดความสามารถของตัวเอง

"๔ วิสัย" ที่ช่วยให้มีความสุขตลอด ๓๖๕ วัน
   "หากต้องการประสบความสำเร็จ ก็จงปฎิบัติตัวแบบผู้ประสบความสำเร็จให้เป็นนิสัย" วิธีนี้ก็คล้ายๆกับการสะกดจิตตัวเอง โดยการปฎิบัตตัวแบบมหาเศรษฐีนั้นก็แบ่งออกเป็น ๔ วิสัย

๑ วิสัยด้านการเงิน
๒ วิสัยด้านเวลา
๓ วิสัยด้านสุขภาพ
๔ วิสัยด้านการปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่น และครอบครัว

ใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
   มหาเศรษฐีทั้งหลายเห็นว่า การใช้เงินเพื่อพัฒนาตัวเองเป็นการใช้เงินที่มีประโยชน์มากที่สุด เช่นการซื้อหนังสือ การเข้าฝึกอบรม
   มหาเศรษฐีบางคนจะชื้อตั๋วคอนเสิร์ตราคาแพง ไม่ใช่เพราะชอบดนตรีนั้นมาก แต่ซื้อเพราะต้องการเรียนรู้ และรักษามิตรภาพที่มีต่อผู้แสดง
   อีกทั้งมหาเศรษฐีมักจะไม่ค่อยให้รางวัลกับความสำเร็จของตัวเอง เพราะมหาเศรษฐีมักจะมองไปข้างหน้า (การให้รางวัลกับตัวเองในความสำเร็จในอดีต จึงไม่มีความสำคัญ)

สร้างเส้นทางลัดสุดยอด สู่เส้นชัยอันสุดโต่งด้วยตารางพยากรณ์อนาคต
   จงสร้างเป้าหมายที่ไม่มีทางนึกเสียใจในภายหลัง เป้าหมายที่เพียงแค่นึกถึงก็มีความสุขแล้วขึ้นมา โดยให้ใส่รายละเอียดว่าเมืออายุเท่าไร ต้องการให้เป้าหมายใดสำเร็จ โดยเป้าหมายตลอดชีวิตนั้นควรจะต้องใส่ไปจนถึงเป้าหมายที่จะตาย (ว่าตายอายุเท่าไร อาจจะ ๙๐ ปี) จากนั้นค่อยลงมาในส่วนก็แผนที่จะทำไปให้ถึงเป้าหมายนั้นๆได้



   โดยในการตั้งเป้าหมายชีวิตนั้นมีข้อแม้ว่าจะต้องไม่ยึดเอาปัจจุบันเป็นที่ตั้ง (ไม่งั้นก็จะเหมือนกับเจ้าตัวหมัด ที่โดนจำกัดไว้ด้วยสภาพความจริงแห่งปัจจุบัน) จงตั้งเป้าหมายอย่างอิสระ และมีความสุข เราสามารถทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเป้าหมายได้ เช่นเวลา หรือจำนวน แต่จะต้องไม่ไปเปลี่ยนเป้าหมายที่ได้วางไว้

เปลี่ยนความผิดพลาดทั้งหมดให้เป็นประสบการณ์ที่ดี
   แน่นอนว่าในความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าทุกส่งอย่างที่ทำไปจะพบแต่ความสำเร็จ ราบเรียบ ไร้ซึ่งปัญหา เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจงอย่างท้อแท้ "ขอเพียงเพียรพยายามต่อไป จนกว่าจะประสบความสำเร็จ ความผิดพลาดทั้งหลายก็จะกลายเป็นเพียงประสบการณ์ดีๆ ระหว่างทางสู่ความสำเร็จ" เพราะระดับความยากลำบากของบททดสอบในชีวิตคนเรานั้น มักสัมพันธ์กับขนาดของเป้าหมาย ดังนั้นหากเป้าหมายเราใหญ่ยักษ์ บททดสอบก็จะเป็นเหมือนยักษ์ใหญ่ไปด้วย
   วิธีการฝึกความแข็งแกร่งให้กับตัวเอง เพื่อให้ไม่ย่อท้อง่ายๆนั้น สามารถทำได้ง่ายๆโดย การลงมือทำในสิ่งที่ตัดสินใจจะทำทันที 

หนึให้พ้นจากชีวิตที่ถูกครอบงำ
   การบริหารจัดการทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตนั้น ถือเป็นเรื่องปกติของมหาเศรษฐี แม้กระทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ความคิดที่จะไม่พึ่งพาใครในเรื่องเงินๆ ทองๆนี้แหละที่ทำให้มหาเศรษฐีทั้งหลายรู้จักและเข้าใจคุณค่าของเงิน ซึ่งเป็นเสมือนรากฐานของการดำรงชีวิต
   คนจำนวนไม่น้อยที่ฝากชีวิตของตัวเองไว้กับพ่อแม่ จนถึงวัยทำงานก็เปลี่ยนมาฝากชีวิตไว้กับเงินเดือน หลังจากแก่ตัวลงก็ฝากชีวิตไว้กับรัฐบาล การที่มัวแต่พึ่งพาเงินของคนอื่นเช่นนี้ ทำให้ชีวิตต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำตลอดเวลา โดยการจะพันตัวเองออกจากสภาพดังกล่าวนั้น คุณจะต้องกำหนดรายรับ รายจ่ายของตัวเองให้ได้

ลงมือทำในทันที
   นึกขึ้นได้เมื่อไร ต้องลงมือทำเดี๋ยวนั้น เนื่องจากคนเราส่วนใหญ่แล้วจะมีสัญชาตญาณของการลังเล เมื่อต้องลงมือทำสิ่งที่ท้าทาย แต่คนที่เป็นมหาเศรษฐีมักจะไม่ลังเล โดยการลงมือทำอย่างรวดเร็ว "ทันทีที่นึกขึ้นได้ ให้ลงมือทำทันที"

ไม่จำเป็นต้องกอดงานทุกอย่างไว้กับตัวเพียงคนเดียว
   จริงอยู่ว่าถ้าคิดจะทำเองก็สามารถทำได้ แต่จะดีกว่ามั้ยถ้าจะให้ใครช่วยจัดการดูแลเรื่องบางเรื่องแทน เพื่อให้เรามีเวลาสำหรับสิ่งต่างๆที่สำคัญกว่ามากขึ้น มหาเศรษฐีทั้งหลายเข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นงานแบบใด หากเห็นว่ามีคนที่สามารถทำแทนได้ ก็ควรจะมอบหมายงานให้ผู้นั้นเป็นผู้จัดการแทน จำไว้ว่าจงอย่าเก็บทุกปัญหาไว้กับตัว

ฝึกเป็นผู้ให้
   คนเราจะต้องเป็นได้ทั้งผู้ให้ และผู้รับ โดยต้องเริ่มจากการเป็นผู้ให้ก่อนจะเป็นผู้รับ การให้ไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินเสมอไป การให้ที่สำคัญมากๆอย่างหนึ่งคือ การให้ข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนมีต่างๆกัน และสามารถให้ (แลกเปลี่ยนกัน) กับผู้อื่นได้

   สรุปว่าเป็นหนังสือที่ต้้งใจมอบแนวคิดต่างๆ โดยถอดแบบมาจากเหล่าเศรษฐีทั้งหลาย เป็นหนังสือที่น่าอ่านเล่มหนึ่งครับ

Comments